ได้ยินชื่อเสียงมานาน เพิ่งมาเจอกับตัวเมื่อเช้านี้เองครับ “แก็งค์คอลเซ็นเตอร์ ” โทรมาแอบอ้างว่าโทรมาจากเป็นบริษัทขนส่งรายใหญ่รายหนึ่งซึ่งมีชื่อเสียงระดับโลก แล้วก็บอกว่าผมมีพัสดุจากต่างประเทศตกค้างอยู่ ให้โอนเงิน(ไม่บอกจำนวน)ไปให้เพื่อดำเนินเรื่องส่งต่อ ผมได้ยินก็อดขำไม่ได้ มุกนี้มันเก่าไปแล้วสำหรับหลายคนที่ดูข่าวมิจฉาชีพพวกนี้ นี่ยังดีนะที่เค้าเล่นมุกเก่า มุกส่งพัสดุ ถ้ามาเล่นมุกใหม่บางทีผมอาจจะหลงเชื่อก็เป็นได้ครับ วันนี้ก็เลยหาวิธีรับมือกับแก็งค์คอลเซ็นเตอร์มาฝากกันครับ
เรามีวิธีสังเกตเบื้องต้นเพื่อให้รู้ว่าปลายสายเป็นแก๊งค์คอลเซ็นเตอร์หรือไม่ ดังนี้
1. ส่วนใหญ่เป็นเบอร์จากต่างประเทศ ซึ่งมักจะขึ้นต้นด้วย +830, +870 หรือเป็นเบอร์มือถือหรือเบอร์จากต่างจังหวัดที่ไม่คุ้นเคย
2. มักเป็นระบบอัตโนมัติที่แอบอ้างว่ามาจากบริษัทขนส่งหรือธนาคารชื่อดังรายใหญ่เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือ พร้อมด้วยข้ออ้างต่างๆ ที่ทำให้เราตื่นตกใจ เช่น
– ส่งพัสดุผิดกฎหมายไปยังต่างประเทศและกำลังจะถูกดำเนินคดี
– บัญชีธนาคารพัวพันกับธุรกิจผิดกฎหมาย
– อ้างว่าเราเป็นหนี้กับหน่วยงานรัฐต้องชำระโดยด่วน
– บัญชีธนาคารกำลังมีปัญหา ต้องให้ข้อมูลส่วนตัวรวมถึงรหัสผ่านเพื่อรักษาเงินในบัญชี
– ได้รับเงินรางวัลแต่ต้องจ่ายเงินส่วนหนึ่งก่อนเพื่อรับเงินรางวัลนั้น
3. หลังจากรับทราบข้อกล่าวหาเสร็จก็จะมีการโอนสายไปยังเจ้าหน้าที่ตำรวจ (ปลอม)
4. ปลายสายพูดจาข่มขู่ให้เรามีการโอนเงินเข้าบัญชีส่วนตัวเพื่อปิดคดีหรือลดโทษ
สำหรับคนที่ยังไม่เคยเจอแก๊งค์คอลเซ็นเตอร์กับตนเองโดยตรง หรือเคยพลาดมาแล้ว ผมมีวิธีรับมือเพื่อไม่ให้ตกเป็นเหยื่อดังนี้
1. ตั้งสติก่อนรับสาย หากรู้สึกว่าเป็นเบอร์แปลกที่ไม่คุ้นเคยหรือมีจำนวนตัวเลขเยอะกว่าเบอร์ทั่วไป สามารถเลี่ยงได้โดยไม่รับสายนั้น
2. หากรับสายแล้วลองสังเกตวิธีพูดหรือการดำเนินเรื่องว่าตรงกับที่เอ่ยมาข้างต้นหรือไม่ เพราะส่วนใหญ่แล้วแก๊งค์คอลเซ็นเตอร์มักมีรูปแบบ
การหลอกลวงที่ไม่ต่างจากเดิมมากนัก แล้วตั้งสติฟังอย่างรอบคอบและใจเย็น พร้อมดำเนินการต่อไปนี้
– ข้อมูลที่ปลายสายแอบอ้างมีส่วนตรงกับความจริงหรือไม่ เช่น มีบัญชี/บัตรเครดิตธนาคาร หรือได้มีการทำธุรกรรมตามที่ถูกกล่าวอ้างหรือไม่
– มิจฉาชีพจะไม่มีข้อมูลเกี่ยวกับการจัดส่งพัสดุ เช่น ชื่อผู้รับ ผู้ส่ง ต้นทาง ปลายทาง หมายเลขติดตามพัสดุ สถานะการจัดส่ง ถ้าลองถามดูจะบ่ายเบี่ยงหรือวางสายไปเลย
– ในกรณีที่แอบอ้างชื่อธนาคารหรือสถาบันการเงิน ขอให้มั่นใจว่าโดยปกติแล้วเจ้าหน้าที่ธนาคารจะไม่มีนโยบายสอบถามข้อมูล
ส่วนบุคคลของลูกค้า รวมทั้งไม่มีการขอให้ลูกค้าทำธุรกรรมทางโทรศัพท์
– ไม่บอกข้อมูลส่วนตัวและข้อมูลทางการเงิน รวมถึงรหัสต่างๆ ในทุกๆ ช่องทาง
– ขอหมายเลขติดต่อกลับ ขอชื่อผู้รับสายรวมถึงรหัสพนักงานเพื่อตรวจสอบกับบริษัทหรือสถาบันการเงินที่ถูกแอบอ้าง
3. เมื่อมั่นใจว่าเจอกับแก๊งค์คอลเซ็นเตอร์เข้าแล้วจริงๆ ควรรีบบอกคนรอบข้างให้ระวังเพื่อป้องกันและรับมือไม่ให้ตกเป็นเหยื่อ
โดยเฉพาะกลุ่มผู้สูงอายุ หรือคนที่มีแนวโน้มจะถูกหลอกลวงได้ง่าย
4. หากใช้บริการแจ้งเตือนสายที่โทรเข้า ควรระบุชื่อว่าเบอร์ที่โทรเข้าเป็นแก๊งค์คอลเซ็นเตอร์หรือมิจฉาชีพ เพื่อให้คนอื่นระวังตัว
5. โทรแจ้งบริษัทหรือสถาบันการเงินที่ถูกแอบอ้างให้หาแนวทางป้องกันเพื่อไม่ให้ตนเองเสียชื่อเสียง
ทั้งหมดนี้คือวิธีป้องกันตัวและรับมือเบื้องต้นเมื่อต้องเจอกับแก๊งค์คอลเซ็นเตอร์ ที่ไม่แน่ว่าวันดีคืนดีอาจเจอสุ่มโทรหาก็เป็นได้
สิ่งสำคัญที่สุดคือ “สติ” อย่าตื่นตระหนกตกใจไปกับคำขู่ หากมั่นใจว่าปลายสายคือมิจฉาชีพแน่นอนก็ตัดสายทิ้งแล้วแจ้งคน
รอบข้างให้ระวังตัว แต่ถ้าหากว่าพลาดท่าโดนหลอกแล้วก็ให้ตั้งสติรวบรวมหลักฐานทั้งหมด เช่น เบอร์โทรศัพท์ หมายเลขบัญชี
ชื่อบัญชีที่โอนเงิน เพื่อเป็นหลักฐานมอบให้เจ้าหน้าที่ตำรวจไปดำเนินการตามกฎหมายต่อไป
บทความโดย ToeyMath
ข้อมูลอ้างอิง
https://www.thairath.co.th/
https://www.posttoday.com/
https://www.sanook.com/
ขอบคุณสำหรับบทความ อ่านแล้วทำให้ระมัดระวังมากขึ้น